ขับเคลื่อนโดย Blogger.

การบ่มคอนกรีต

 การบ่มคอนกรีต
   คอนกรีตจำเป็นต้องได้รับการบ่มทันทีหลังจากเสร็จสิ้นการเทและควรบ่มต่อไปจนกระทั่งคอนกรีตมีกำลังตามต้องการ  หลักการทั่วไปของการบ่มที่ดีจะต้องสามารถป้องกันคอนกรีตไม่ให้เกิดการสูญเสียความชื้นไม่ว่าจะด้วยความร้อนหรือลม  ไม่ให้คอนกรีตร้อนหรือเย็นมากเกินไป  ไม่ให้สัมผัสกับสารเคมีที่จะเป็นอันตรายต่อคอนกรีต และไม่ถูกชะล้างโดยน้ำฝนหลังจากเทคอนกรีตเสร็จใหม่ๆ เป็นต้น

การบ่มเปียก

         ในกรณีทั่วไปคอนกรีตต้องได้รับการป้องกันจากการสูญเสียความชื้นจากแสงแดดและลมหลังจากเสร็จสิ้นการเทจนกระทั่งคอนกรีตเริ่มแข็งแรง และหลังจากที่คอนกรีตเริ่มแข็งแรงแล้วผิวหน้าของคอนกรีตที่สัมผัสกับบรรยากาศยังต้องคงความเปียกชื้นอยู่ ซึ่งอาจทำได้ด้วยการปกคลุมด้วยกระสอบเปียกน้ำ ผ้าเปียกน้ำ หรือฉีดน้ำให้ชุ่ม เป็นต้น คอนกรีตที่ใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 ควรบ่มเปียกติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน ส่วนคอนกรีตที่ใช้ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 3 ควรบ่มอย่างน้อย 3 วัน ในกรณีของคอนกรีตที่มีวัสดุปอซโซลานผสมควรบ่มมากกว่า 7 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของวัสดุปอซโซลานที่ใช้คอนกรีตที่ไม่ได้รับการบ่มอย่างถูกต้องจะไม่มีการพัฒนากำลังเท่าที่ควรเนื่องจากปฏิกิริยาไฮเดรชั่นต้องการน้ำ นอกจากนั้นการสูญเสียความชื้นจากผิวหน้าของคอนกรีตที่ไม่ได้รับการบ่มจะทำให้เกิดการแตกร้าวด้วยกรณีใช้กระสอบหรือผ้าในการบ่มคอนกรีต กระสอบหรือผ้าที่ใช้ควรเป็นวัสดุที่มีความหนาพอสมควรเพื่อไม่ให้แห้งเร็วเกินไป และต้องรดน้ำให้เปียกชุ่มอยู่ตลอดเวลาการบ่มด้วย

การบ่มแบบควบคุมอุณหภูมิ

          การบ่มแบบควบคุมอุณหภูมิมีความจำเป็นต่องานบางประเภทโดยเฉพาะงานคอนกรีตหลา สำหรับงานคอนกรีตที่อยู่ในที่มีอุณหภูมิสูงมากหรืองานคอนกรีตหลา ซึ่งอาจเกิดความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิภายในคอนกรีตกับสิ่งแวดล้อมภายนอกการลดอุณหภูมิเริ่มต้นอาจทำการบ่มเปียกได้หลายวิธี เช่น ลดอุณหภูมิของคอนกรีตเอง โดยใช้ทรายและหินที่มีอุณหภูมิต่ำ หรือใช้น้ำเย็นในการผสม หรือใช้วัสดุผสมที่ช่วยลดความร้อนจากปฏิกิริยาไฮเดรชั่น เช่น ใช้เถ้าลอยแทนที่ปูนซีเมนต์บางส่วนเป็นต้น หรืออาจมีการฝังท่อน้ำเย็นสำหรับหมุนเวียนน้ำเย็น เพื่อลดอุณหภูมิภายในคอนกรีต หรือห่อหุ้มรอบคอนกรีตด้วยฉนวนกันความร้อนเพื่อลดความแตกต่างของอุณหภูมิภายในเนื้อคอนกรีต หรือหลายอย่างประกอบกัน


การบ่มแบบเร่งกำลัง

          ในงานบางประเภท เช่น การผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป อาจมีความจำเป็นต้องใช้การบ่มแบบเร่งกำลัง เช่น บ่มไอน้ำหรือบ่มไอน้ำความดันสูง เป็นต้น การบ่มแบบเร่งกำลังนั้นควรคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้ระยะเวลาที่จะเริ่มบ่ม อัตราการเร่งอุณหภูมิ อุณหภูมิสูงสุดของการบ่ม ระยะเวลาการคงอุณหภูมิสูงสุดไว้ อัตราการลดอุณหภูมิ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ควรได้มาจากผลการทดสอบหรือประสบการณ์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียต่อคอนกรีตที่บ่ม การบ่มแบบเร่งกำลังนี้ต้องให้คอนกรีตมีกำลังไม่น้อยกว่ากำลังที่ออกแบบไว้ และต้องไม่มีผลเสียต่อความคงทนของคอนกรีตด้วย

สารเคมีสำหรับการบ่ม

          โดยปกติสารเคมีสำหรับการบ่มจะใช้ต่อเมื่อไม่สามารถบ่มคอนกรีตแบบเปียกได้สารเคมีสำหรับการบ่มนั้นจะใช้ฉีดพ่นลงบนผิวหน้าของคอนกรีตที่ต้องการบ่มโดยควรฉีดพ่นซ้ำมากกว่า 1 เที่ยว เพื่อให้แผ่นฟิล์มเคลือบผิวหน้าคอนกรีตมีความหนาเพียงพอ และควรฉีดพ่นทันทีที่ผิวหน้าคอนกรีตเริ่มแห้งเพื่อไม่ให้น้ำที่ค้างบนผิวหน้าคอนกรีตผสมกับสารเคมี ถ้ายังไม่สามารถฉีดพ่นทันทีที่ผิวหน้าคอนกรีตเริ่มแห้งก็ให้ฉีดน้ำบนผิวคอนกรีตให้เปียกชุ่มไว้ก่อนการใช้สารเคมีสำหรับการบ่ม ไม่ควรจะฉีดพ่นสารเคมีเหล่านั้นลงบนเหล็กเสริม หรือที่รอยต่อของการ เป็นต้น เนื่องจากบริเวณดังกล่าวต้องการการยึดเกาะที่ดีกับคอนกรีตที่จะเทต่อไปภายหลังสารเคมีสำหรับบ่ม

ปริมาณความชื้นที่เพียงพอ

          ปริมาณของน้ำที่ผสมในคอนกรีตโดยทั่วไปแล้วจะมีมากพอสำหรับการบ่ม อย่างไรก็ตามการสูญเสียน้ำจากการระเหยมากเกินไปอาจลดปริมาณน้ำในคอนกรีตจนน้อยกว่าปริมาณน้ำที่จำเป็นสำหรับใช้พัฒนาคุณสมบัติที่ต้องการ ผลกระทบของการระเหยที่รวดเร็วควรได้รับการป้องกันด้วยการเพิ่มน้ำหรือป้องกันการระเหยที่มากเกินไป



ดังรูป ที่แสดงผลกระทบของอุณหภูมิอากาศอุณหภูมิคอนกรีตความชื้นสัมพัทธ์และความเร็วลมต่ออัตราการระเหยที่ผิวหน้าคอนกรีตเมื่อปัจจัยเหล่านี้รวมกันจนส่งผลให้น้ำบางส่วนที่ผสมอยู่ในคอนกรีตระเหยมากเกินไปการแตกร้าวเนื่องจากการหดตัวอาจเกิดขึ้นกับคอนกรีตขณะอยู่ในสภาพพลาสติก รูป จะช่วยประเมินถึงผลดังกล่าวและแสดงให้เห็นระดับอัตราการระเหยเนื่องจากผลของสภาพแวดล้อมเหล่านี้ด้วยหากการป้องกันไม่ได้ผลโดยทำให้เกิดการระเหยที่มากเกินไปจะส่งผลให้เกิดการแตกร้าวจากการหดตัวแบบพลาสติกและสูญเสียกำลังของคอนกรีตที่ผิว
Back To Top